ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม    กรมชลประทาน

                            โทรศัพท์  0-2241-3350        โทรสาร  0-2241-3024
                     
Web page : http://www.rid.go.th/flood   E-mail : flood44@mail.rid.go.th


 สรุปการระบายน้ำในทุ่งฝั่งตะวันออก ผ่านคลอง 13 – 14

ตามลายพระราชหัตถเลขา

-------------------------

 คลิกเพื่อดูแผนที่

1.       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงให้ข้อเสนอแนะเรื่องการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก  ผ่านคลองระพีพัฒน์  และคลอง 13 – 14 เพื่อลดปริมาณน้ำที่ผ่านกรุงเทพมหานครให้น้อยลงได้  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542  เป็นต้นมา

2.       กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริ โดยการขุดลอกช่องทางระบายน้ำที่จะรับน้ำจากคลองระพีพัฒน์(แยกใต้)  ผ่านคลอง 1 อ.  คลองผักขวาง  และ คลอง 14  ในเขตโครงการชลประทานรังสิตเหนือ  พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม  4  แห่ง  คือ ท่อระบายน้ำรับน้ำจากคลองระพีพัฒน์ แยกใต้ คลอง 1 อ.  คลอง 2 อ.  ประตูระบายน้ำในคลองระพีพัฒน์แยกใต้  และประตูควบคุมน้ำในคลองรังสิต  เพื่อควบคุมน้ำมิให้ไหลเข้าสู่คลองรังสิตช่วงธัญญบุรี  และจุฬาลงกรณ์  การก่อสร้างแล้วเสร็จ  เมื่อ ปี  2545

3.       วิธีการดำเนินการควบคุมปริมาณน้ำผ่านคลองดังกล่าว  ดังนี้

-        รับน้ำจาก แม่น้ำป่าสัก  บริเวณเหนือเขื่อนพระรามหก  ผ่าน ปตร.พระนารายณ์  ได้เต็มที่ประมาณ  210  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

-        ระบายน้ำผ่าน ปตร.พระศรีเสาวภาค (ที่ อ.หนองแค)  ลงสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้ (คลอง 13)  ได้เต็มที่  80  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (แต่ระบายสูงสุด เมื่อ 14 กันยายน  2545  ประมาณ  110  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ทำให้ระดับน้ำล้นชานคลองและจะเริ่มข้ามคันคลอง  26  กันยายน  2545)

-        ระบายน้ำผ่าน ทรบ. คลอง 1อ.  ได้เต็มที่ประมาณ  10  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ระบายลงปากคลอง 14  ผ่าน ทรบ. คลองผักขวาง

-        ระบายน้ำผ่าน ปตร.คลอง 2 อ.  ได้เต็มที่ ประมาณ  20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ระบายลงคลอง 14  บริเวณท้ายอาคารอัดน้ำกลางคลอง 14

-        ระบายน้ำลงคลองรังสิต ผ่าน ปตร.พระธรรมราชา ที่สร้างใหม่ ได้เต็มที่  ประมาณ  40  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

-        ปิด ปตร.กลางคลองรังสิต (ที่สร้างใหม่) ระหว่างคลอง 12 และ คลอง 13 เพื่อเร่งผลักดันน้ำที่รับจาก ปตร.พระธรรมราชา และคลอง 14  ให้ไปทาง ปตร.เสาวภาผ่องศรี (องครักษ์) และคลอง  15 – 16 – 17

-        ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือในคลองระพีพัฒน์แยกใต้  จะส่งผ่านไซฟอนพระธรรมราชา  ผ่านคลอง  13  ไปถึง ไซฟอนคลอง 6 วาสายล่าง ปริมาณน้ำจะระบายลงคลองหกวาสายล่าง  ส่วนที่เหลือไประบายทิ้งที่ปลายคลอง 13 (ที่เขตหนองจอก)  ลงคลองแสนแสบ

-        ปริมาณน้ำที่รับจากคลองรังสิต ผ่านเข้าคลอง 14 – 15 และ 16 จะไประบายผ่านคลอง 6 วาสายล่าง  และ ระบายต่อผ่านคลอง 14 – 15 – 16 – 17  ไปลงคลองบางขนาก หรือคลองแสนแสบ และต่อเนื่องไปเข้าคลองนครเนื่องเขต  และคลองพระองค์ไชยานุชิต

4.       ปริมาณน้ำที่ผ่านระบบคลองต่างๆ  ดังกล่าวจะไหลเข้าสู่สถานีสูบน้ำริมแม่น้ำบางปะกงที่สถานีสูบน้ำเสาวภาผ่องศรี  สถานีสมบูรณ์  สถานีบางขนาก  สถานีท่าไข่  และสถานีสูบน้ำริมคลองชายทะเล  ที่สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร  คลองด่าน 2  เจริญราษฎร์  บางปลา-บางปลาร้า ฯลฯ

5.       อัตราการระบายน้ำสูงสุดผ่านสถานีสูบน้ำ สรุปได้ดังนี้คือ

-        สถานีสูบน้ำริมแม่น้ำบางประกง  มีกำลังสูบสูงสุดได้ ประมาณ  12.50 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสูบระบายได้จริง ประมาณ  6 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวัน หรือประมาณ ร้อยละ 50

-        สถานีสูบน้ำริมคลองชายทะเล  มีกำลังสูบสูงสุดได้  ประมาณ  25  ล้านลูกบาศก์เมตร  สามารถสูบระบายได้จริง  ประมาณ  16  ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวัน  หรือประมาณ ร้อยละ  55

 

6.       ประเด็นปัญหาที่กำลังการสูบระบายน้ำได้ไม่เต็มที่  คือ

-        ระดับน้ำสูงสุดในทุ่งและคลองต่างๆ  ในพื้นที่ตอนกลางของทุ่งฝั่งตะวันออก (บริเวณเขตหนองจอก – มีนบุรี)  อยู่ที่ระดับ ประมาณ  +1.30 ม.(รทก.)  ในขณะที่ระดับน้ำริมคลองชายทะเล  บริเวณหน้าสถานีสูบน้ำอยู่ที่ระดับ  ประมาณ  -0.20  ม.(รทก.) จะเห็นว่า ความลาดเทของผิวน้ำในคลองที่ไหลเข้าสู่สถานีสูบน้ำต่างๆ  อยู่ในเกณฑ์ประมาณ  1:25,000  ถึง 1: 30,000  ซึ่งเป็นลาดของผิวน้ำที่ไหลช้ามากหรือไม่ไหลเลย  จึงทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่สถานีสูบน้ำต่างๆ  ได้ช้ามาก  และไม่ทันต่อกำลังสูบของเครื่องที่มีอยู่

-        ปริมาณน้ำที่ส่งมาจากคลองระพีพัฒน์แยกใต้เข้าคลอง 14  และคลองรังสิต  ที่สามารถส่งได้โดยเฉลี่ยที่ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับชาวนาและชาวสวน  ได้ไม่เกิน  60  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  หรือ ประมาณวันละ  5  ล้านลูกบาศก์เมตร  ซึ่งจะเห็นว่า  น้อยกว่ากำลังการสูบของสถานีโดยรอบที่มีมากถึงวันละ 41  ล้านลูกบาศก์เมตร (ถ้าไม่มีฝนตกในพื้นที่เพิ่มเติม  ปริมาณน้ำ จำนวนนี้จะไม่เพียงพอต่อการสูบ)

7.       แนวทางการแก้ไขวิธีการผันน้ำเข้าสู่ระบบคลอง 13 – 14

-        การเพิ่มปริมาณน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์  ให้มากขึ้นเกินขีดความสามารถของคลองจะเพิ่มได้ไม่มากกว่าที่เป็นอยู่  เนื่องจากระดับน้ำจะล้นคันคลอง  บริเวณสวนส้มทางด้านปลายคลองระพีพัฒน์แยกใต้  จึงต้องคงการรับน้ำจาก ปตร.พระนารายณ์ อยู่ในเกณฑ์ 120 – 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (นอกจากนี้ยังมีน้ำหลากจากทุ่งบางนา มาเพิ่มเติมใน คลอง 14 ด้วย)

-        ถ้าต้องการเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ระบบคลอง 14  ให้มากขึ้น  มีการรับน้ำได้ทางเดียวคือ  การรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน ปตร.จุฬาลงกรณ์  ผ่านคลองรังสิตไปสู่ระบบคลอง  14 – 15 – 16  ซึ่งการดำเนินการโดยวิธีนี้ไม่สามารถบังคับ ปริมาณน้ำหลากเข้าคลอง 2 -12 ทางฝั่งใต้ของคลองรังสิตได้ และปริมาณน้ำจากคลอง  2 – 12  จะไหลเข้าไปปะทะกับแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ  ซึ่งจะเพิ่มระดับน้ำด้านนอกคันกั้นน้ำตั้งแต่คลองสองสายใต้  จนไปจรด คลองประเวศบุรีรมย์  และจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมด้านนอกคันพระราชดำริอย่างรุนแรงได้  ดังนั้น วิธีนี้จึงไม่สามารถที่จะรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา  ผ่านระบบคลอง 14 ได้โดยตรง

-        ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากระบบคลอง 14  ต่างๆ เข้าสู่สถานีสูบน้ำริมชายทะเลด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ  บริเวณหน้าสถานีสูบน้ำ (บริเวณใต้สะพาน)  ทุกแห่ง  จะสามารถเพิ่มปริมาณการระบายน้ำได้จำนวนหนึ่ง  แต่อาจจะไม่มาก  เพราะปริมาณน้ำที่ไหลระบบคลอง 14  มีจำกัดประมาณวันละ  5 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น

-        ขณะนี้กรมชลประทาน ได้เร่งไปติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ  บริเวณใต้สะพานหน้าสถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์ แล้ว  4  เครื่อง  สามารถผลักดันน้ำได้ตั้งแต่ บ่ายวันที่  7  ตุลาคม  2545  เป็นต้นไป  และจะพิจารณาติดตั้งที่สถานีสูบน้ำคลองด่าน 2  เพิ่มเติมต่อไป

-        กรมชลประทาน  จะพิจารณาเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำ  ในบริเวณจุดที่สามารถดำเนินการได้  และมีปริมาณน้ำเพียงพอทุกแห่ง  โดยเร่งด่วนต่อไป

-----------------------

                                                กรมชลประทาน

                                                                                             7  ตุลาคม   2545