กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กพร้อมทั้งระบบชลประทานซึ่งมีคลองส่งน้ำสายใหญ่ คลองซอย คูส่งน้ำ และคูระบายน้ำในไร่นาทั่วประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำ น้ำชลประทานส่งให้ถึงพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร แต่เนื่องจากน้ำชลประทานในปัจจุบันมีอยู่อย่างจำกัดและนับวันจะขาดแคลนมากยิ่งขึ้นเกษตรกรเองก็ได้ปรับเปลี่ยนแบบแผนการปลูกพืชของตนจากการปลูกเพียงชนิดเดียว หรือทำนาอย่างเดียวปีละครั้งโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เป็นการปลูกพืชหลากหลายชนิดและมีการปลูกพืชแบบหมุนเวียน ในรอบปีมากขึ้น หลังจากมีน้ำชลประทานทำให้หน่วยงานของกรมชลประทานต้องดำเนินการบริหารจัดการ ด้านการจัดสรรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ถึงพื้นที่เกษตรกรอย่างทั่วถึงและเหมาะสมอันจะนำมาซึ่งการใช้น้ำชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับเวลาซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น การศึกษาทดลอง และวิจัยเพื่อหาปริมาณการใช้น้ำของพืชแต่ละชนิดตลอดถึงวิธีการให้น้ำแก่พืชจึงมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ทราบว่าพืชแต่ละชนิดมีความต้องการน้ำเป็นปริมาณมากน้อยเท่าใดจึงจะเพียงพอ และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตได้เป็นปกติและให้ผลผลิตสูงด้วยเหตุนี้กรมชลประทานจึงต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบด้านนี้ขึ้นจึงทำให้เกิด "กลุ่มงานวิจัยการใช้น้ำชลประทาน" ชื่อเดิมคือ "งานวางแผนและวิจัยการใช้น้ำชลประทานของพืช" และ "สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 1-9 " ชื่อเดิมคือ "สถานีค้นคว้าวิจัยการใช้น้ำชลประทานของพืช" ขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่ศึกษาทดลองวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านการชลประทาน ใช้เป็นข้อมูลในการใช้พิจารณาวางโครงการ การคำนวณออกแบบอาคารชลประทาน คลองส่งน้ำและคูส่งน้ำ การปรับปรุงระบบส่งน้ำ และระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ การวางแผนการส่งน้ำ การบริหารการจัดการด้านการจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา ของระบบการชลประทานทั้งระบบ ตั้งแต่คลองส่งน้ำไปจนถึงคูส่งน้ำและอาคารชลประทานต่าง ๆ เพื่อให้มีความถูกต้องเหมาะสมกับกาลเวลาและแบบแผนการปลูกพืชในเขตพื้นที่การชลประทานนั้น

ด้านการเกษตร ใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการวางแผนการปลูกพืช การกำหนดการให้น้ำ และวิธีการให้น้ำแก่พืช อย่างถูกต้องเหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อเป็นการใช้น้ำชลประทานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นการประหยัดน้ำชลประทาน ประหยัดแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการใช้น้ำและใช้ที่ดินเพาะปลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านอุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณา ศึกษาหาความสัมพันธ์ ระหว่าง ดิน น้ำ พืช สภาพภูมิอากาศ และลักษณะภูมิประเทศ