ความรู้ความเข้าใจในหลักการของระบบโทรมาตร

           ระบบโทรมาตรหรือระบบ SCADA (Supervisory Control And Data Acquisition) เป็นระบบที่ใช้ในการรวบรวมและจัดการข้อมูล แสดงผลของการทำงานการตรวจวัดรับ-ส่งข้อมูล และควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ โดยเฉพาะกับอุปกรณ์ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากศูนย์ควบคุมและไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่สถานีนั้นๆ (UnMan Station)

           เนื่องจากระบบ SCADA เป็นระบบควบคุมและแสดงผลข้อมูลระยะไกล   ซึ่งอาศัยโครงข่ายการสื่อสารและอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ   ในการติดต่อระหว่างศูนย์ควบคุม (สถานีหลัก) และสถานีสนามที่ทำการตรวจวัดข้อมูลที่ต้องการ ดังนั้นระบบโครงข่ายการสื่อสารจึงมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องมีความเชื่อถือได้สูงมาก เพื่อให้ศูนย์ควบคุมสามารถติดตามสถานะต่างๆที่เกิดขึ้น และควบคุมอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีสนามได้ตลอดเวลา  อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง  ตัวอย่างในการนำระบบ SCADA มาใช้งานเช่น การตรวจวัดการสูบจ่ายน้ำมันที่สถานีสูบจ่าย การตรวจวัดข้อมูลทางอุตุ-อุทกระยะไกล ซึ่งในงานของกรมชลประทาน ได้ทำการติดตั้งระบบดังกล่าวนี้ที่โครงการระบบโทรมาตรเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  และโครงการระบบโทรมาตรลุ่มน้ำท่าตะเภา จังหวัดชุมพร  เป็นต้น

           จากที่กล่าวไว้แล้วว่าระบบ SCADA เป็นระบบที่ใช้ในการควบคุม และแสดงผลข้อมูลในระยะไกล ดังนั้น ระบบ SCADA จึงทำหน้าที่เป็นหลายระดับ โดยศูนย์ควบคุม (สถานีหลัก) จะทำหน้าที่ในการส่งคำสั่งในการควบคุมไปที่หน่วยควบคุมระยะไกล (Remote Terminal Unit : RTU)  ที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีสนามของระบบ เพื่อให้ RTU ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์และประมวลผลข้อมูลที่สถานีสนามก่อนที่จะส่งรายงานไปยังศูนย์ควบคุม

           การกำหนดให้สถานีสนาม (RTU) ทำการประมวลผลข้อมูลตามกระบวนการในการควบคุมหรือผลที่ได้จากการตรวจวัดให้เสร็จสิ้นแล้วจึงส่งข้อมูลหรือรายงานการประมวลผลไปยังศูนย์ควบคุม เป็นปัจจัยสำคัญและเป็นข้อได้เปรียบในการออกแบบระบบ SCADA (หรือระบบโทรมาตร) เนื่องจากการสื่อสารข้อมูลทางไกล โดยใช้สื่อ (Media) ประเภทใดก็ตาม จะมีข้อจำกัดในตัวเองในการรับ - ส่งข้อมูลที่มีปริมาณมากและมีระยะห่างไกล แม้ว่าการคำนวณออกแบบได้ดำเนินการให้มีความมั่นคงสูงอยู่แล้วก็ตาม ดังนั้น การออกแบบเพื่อลดปริมาณข้อมูล โดยให้ RTU ทำหน้าที่ในการควบคุมอุปกรณ์หรือประมวลผลข้อมูลในการตรวจวัดด้วยตัวเอง และศูนย์ควบคุม (สถานีหลัก) ทำหน้าที่เพียงส่งคำสั่งไปที่ RTU ให้ดำเนินการเท่านั้น  จะทำให้ระบบ SCADA สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือ

 

           ส่วนประกอบหลัก ของระบบ SCADA ดังแสดงในรูปที่ 1

·  Remote Terminal Unit   (หน่วยควบคุมระยะไกล)

·  Communication System  (ระบบสื่อสาร)

·  Master Station (สถานีหลัก หรือศูนย์ควบคุม)

 

 

 

 

 


รูปที่ 1   แสดงส่วนประกอบหลักของระบบ SCADA

 

           หน่วยควบคุมระยะไกล (Remote Terminal Unit)

           Remote Terminal Unit (RTU) เป็นส่วนหนึ่งของระบบ SCADA ที่ถูกติดตั้งอยู่ที่สถานีสนามหรือสถานีตรวจวัดข้อมูล โดย RTU ในระบบ SCADA จะถูกต่อกับเครื่องมือวัดข้อมูลที่ต้องการตรวจวัด และรวบรวมข้อมูลที่สถานีสนาม (Local Station) ทั้งข้อมูลที่เป็นค่าต่อเนื่อง (Analog) หรือข้อมูลสถานะ (Digital) โดยต่ออุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลเข้ากับส่วน Input Unit ของ RTU แล้วนำเอาค่าที่ทำการตรวจวัดได้มาทำการประมวลผลและส่งกลับไปแสดงผลที่ศูนย์ควบคุมโดยผ่านระบบสื่อสาร

           นอกจากนั้น RTU ยังจะต้องรับคำสั่งในการควบคุมอุปกรณ์จากศูนย์ควบคุม โดยต่ออุปกรณ์ที่ต้องการควบคุมเข้ากับส่วน Output Unit ของ RTU ซึ่งในการควบคุมต่าง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการตรวจวัดข้อมูล หรือเป็นคำสั่งจากศูนย์ควบคุม จะต้องสร้างโปรแกรมในการติดต่อกับส่วน Input Unit เพื่ออ่านค่าที่ตรวจวัดได้และทำการประมวลผลค่านั้นให้ออกมาในรูปที่ต้องการโดยมีข้อกำหนดในการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานีสนามกับศูนย์ควบคุม หรือสถานีสนามกับสถานีสนาม (Alternative Route) หรือผ่านสถานีทวนสัญญาณ โดยผ่านช่องสัญญาณในการสื่อสาร (Communication Port) ของ CPU ซึ่งโปรแกรมจะถูกเก็บลงใน Central Processing Unit (CPU) ของ RTU    

 

           ส่วนประกอบหลักของ RTU  ที่สำคัญมีอยู่ 3 ส่วนดังต่อไปนี้

           1)  Central Processing Unit (CPU) ของ RTU หน้าที่หลัก คือ

· ทำหน้าที่ในการประมวลผลสัญญาณที่รับมาจาก Filed Instrument โดยสัญญาณที่ได้รับมาจาก Field Instrument จะถูกต่อเข้ากับ I/O Module ตามมาตรฐานสัญญาณต่างๆ เช่น สัญญาณ Analog 4 – 20 mA. หรือสัญญาณ Digital On – Off โดยเมื่อ CPU รับสัญญาณจาก Module ที่ต่อผ่าน I/O Bus แล้วจะทำการประมวลผลโดยสัญญาณ Analog จะถูกแปลงเป็นค่า Digital โดยใช้ Analog to Digital Converter  แล้วนำไปประมวลผลต่อไป

· ทำหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูลต่างๆที่ได้รับจาก I/O Module เพื่อที่จะส่งข้อมูลให้กับศูนย์ควบคุม และทำหน้าที่แปลงคำสั่งจากศูนย์ควบคุมเพื่อใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีสนาม

· ทำหน้าที่ในการควบคุมระบบการสื่อสารระหว่าง RTU กับศูนย์ควบคุม โดยผ่าน Port ในการสื่อสาร ซึ่ง Port ที่ใช้ในการสื่อสารนั้นจะขึ้นอยู่กับสื่อที่ใช้เช่น สายสัญญาณต่าง  Microwave  GPRS  ดาวเทียม หรือ วิทยุสื่อสาร

             2)  Input / Output Module (I/O Module) ทำหน้าที่ในการรับ - ส่งสัญญาณจาก CPU เพื่อส่งไปควบคุม หรืออ่านค่าจากอุปกรณ์เครื่องมือวัดต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่ง Module ออกเป็น 4 ชนิดดังต่อไปนี้

· Analog Input Module เป็น Module ที่รับสัญญาณ Analog    ที่เป็นสัญญาณไฟฟ้า 4 - 20 mA. หรือ 0 - 5 Volts ซึ่งเป็นมาตรฐานทางอุตสาหกรรมจากอุปกรณ์วัดค่าต่างๆ

· Digital Input Module เป็น Module ที่รับสัญญาณ Digital 0 หรือ 1 ตามลักษณะ Close or Open Switch

· Analog Output Module เป็น Module ที่ส่งสัญญาณ  Analog ที่เป็นสัญญาณไฟฟ้า 4 - 20 mA. หรือ 0 - 5 Volts ซึ่งเป็นมาตรฐานทางอุตสาหกรรม

· Digital Output Module เป็น Module ที่ส่งสัญญาณ Digital 0 หรือ 1 ตามลักษณะ Close or Open Switch

 

                 ในการนำเอา RTU ไปต่อร่วมกับอุปกรณ์เครื่องมือวัดต่างๆ ได้อย่างถูกต้องจะต้องต่อ Input / Output Module ของ RTU ให้ถูกต้องตรงกับลักษณะของสัญญาณที่ทำการรับหรือส่งระหว่าง Input / Output Module ของ RTU กับอุปกรณ์เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมในกระบวนการต่างๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะสัญญาณ Analog หรือ Digital  ตารางที่ 1 แสดงลักษณะสัญญาณที่จะติดต่อกันระหว่าง Input / Output Module ของ RTU กับ Sensors ต่าง และได้แสดงลักษณะการต่ออุปกรณ์เครื่องมือวัดข้อมูล (Sensor) ตามรูปที่ 2

 

ตารางที่ 1  แสดงลักษณะสัญญาณที่จะติดต่อกันระหว่าง Input / Output Module กับ Sensors

Input / Output Module

Sensors

Analog Input

เครื่องมือวัด (4 – 20 mA)

Digital Input

เครื่องมือวัดสถานะ (On-Off)

Analog Output

อุปกรณ์ควบคุม (4 – 20 mA)

Digital Output

อุปกรณ์ควบคุมสถานะ (On-Off)

 

รูปที่ 2   แสดงการเชื่อมต่อระหว่าง RTU กับเครื่องมือวัดต่างๆ

 

           3)  Communication Port ทำหน้าที่เป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลระหว่าง RTU กับศูนย์ควบคุมหรือ RTU ด้วยกัน และสามารถใช้ช่องทาง (Port) ในการสื่อสารมากกว่า 1 Port  โดยจะต้องกำหนดชนิดของช่องทางในการสื่อสารและรวมถึงการกำหนดสื่อที่ใช้ด้วย เช่น วิทยุสื่อสาร ดาวเทียม Microwave เป็นต้น

           ระบบสื่อสาร (Communication System)

           Communication System ระบบการสื่อสารของระบบ SCADA ทำหน้าที่ในการสื่อสารเพื่อรับ-ส่งข้อมูลหรือคำสั่งระหว่าง RTU กับ RTU หรือระหว่าง RTU กับศูนย์ควบคุมซึ่งระบบสื่อสารของระบบ SCADA สามารถที่จะใช้สื่อ (Media)  ต่าง ในการสื่อสารเช่น วิทยุ  Microwave  ดาวเทียม  ข่ายสายโทรศัพท์  หรือ สายสัญญาณ (RS-232, RS-485) เป็นต้น  การพิจารณาเลือกใช้สื่อ (Media) จะต้องคำนึงถึงจำนวนข้อมูล ระยะทางที่ใช้ในการสื่อสาร รวมไปถึงภูมิประเทศและค่าใช้จ่าย

           ในหลักการทั่วไปของการสื่อสารข้อมูลของระบบ SCADA สามารถทำได้ 2 แบบคือ

· Time Mode  คือการรับ – ส่งข้อมูลตามเวลาที่ผู้ใช้งานกำหนด เช่น กำหนดช่วงเวลาการรับ - ส่งข้อมูล ทุก 15 ,30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง หรือสามารถที่จะกำหนด เวลาใด เช่น ทุกๆ 7:00 . ของทุกๆ วัน เป็นต้น

· Event Mode หมายถึงการรับ – ส่งข้อมูลเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปรกติ หรือเหตุการณ์ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เกิดขึ้นโดย RTU จะเป็นผู้ส่งข้อมูลให้กับสถานีหลักโดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาที่สถานีหลักเรียกถามข้อมูล  

           ระบบสื่อสารที่ใช้ในระบบ SCADA จะต้องคำนึงถึงความความเร็วและจำนวนข้อมูลที่ส่งผ่านสื่อ ซึ่งโดยปกติแล้วความเร็วที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลของระบบ SCADA จะอยู่ในระดับปานกลาง คือมี Baud rate จะอยู่ที่ประมาณ 300 – 2400 Bit/Sec. และเป็นระบบสื่อสารจะต้องมีความเชื่อถือได้อย่างสูง และในระบบจะต้องสามารถใช้สื่อได้หลายสื่อร่วมกัน เช่น วิทยุสื่อสาร ดาวเทียม GPRS Microwave และ สายสัญญาณ (RS-232 RS-485 เป็นต้น)  โดยข้อมูลที่ส่งผ่านระบบสื่อสารเป็นได้ทั้งข้อมูลที่ตรวจวัด ข้อมูลที่ได้ทำการประมวลผล หรือเป็นคำสั่งในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์  เป็นต้น

           สำหรับโปรโตคอลที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลระหว่าง RTU กับ RTU และ RTU กับ Control Center ที่เป็นรูปแบบที่กำหนดโดย OSI (Open Systems Interconnection) ประกอบไปด้วย 7 Layers ดังต่อไปนี้

·  Physical Layer

·  Link Layer

·  Network Layer

·  Transportation Layer

·  Session Layer

·  Presentation Layer

·  Application Layer

 

           สถานีหลัก (Master Station) หรือศูนย์ควบคุม (Control Center)

           Master Station ทำหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการข้อมูล รวมไปถึงการควบคุมระบบทั้งหมดเพื่อนำเอาข้อมูลจาก RTU ทุกตัวในระบบมาทำการประมวลผลเพื่อให้สามารถที่จะควบคุมกระบวนการต่างๆ หรือแสดงผลข้อมูลของ RTU แต่ละตัวให้เป็นไปตามที่ต้องการ นอกจากนั้น Master Station ยังจะต้องทำหน้าที่จัดการระบบการสื่อสารของระบบ SCADA เพื่อนำเอาข้อมูลจาก RTU มาทำการประมวลผลตามเวลาที่กำหนด (Time Mode) โดยศูนย์ควบคุมจะทำหน้าที่ในการจัดลำดับในการเรียกถามข้อมูลจาก RTU แต่ละตัว (Polling) หรือทำหน้าที่ในการรอรับข้อมูลที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปรกติบางอย่างที่ RTU ซึ่งเป็นการรายงานทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น (Event Mode) โดยไม่ต้องรอให้ Master Station เรียกถามข้อมูล

           ในปัจจุบันระบบ SCADA ได้นำเอาระบบ Computer เข้ามาใช้และเนื่องจากผู้ผลิตระบบ SCADA อาจจะไม่ได้ผลิต Computer และผู้ผลิต Computer ก็อาจจะไม่ได้ผลิตระบบ SCADA ดังนั้นในการที่จะนำเอาข้อมูลต่างๆจาก RTU แต่ละตัวในระบบมาแสดงผลข้อมูลหรือทำรายงานโดยใช้ระบบ Computer นั้นจะต้องทำการแปลงโปรโตคอลของระบบ SCADA ให้เป็นโปรโตคอลมาตรฐานที่สามารถที่จะติดต่อกับ Computer ได้ดังนั้นจึงสามารถแบ่ง Master Station ออกเป็น 2 ส่วนคือ

·   Field Interface Unit (FIU) ทำหน้าที่เป็น Gateway ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลงโปรโตคอลซึ่งในที่นี้ใช้ MODBUS โปรโตคอลซึ่งเป็นโปรโตคอลมาตรฐานที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย

·  Computer Control Center ทำหน้าที่ในการรวบรวม แสดงผลข้อมูลและรายงานผลข้อมูลนอกจากนั้นยังทำการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจาก RTU แต่ละตัวให้เป็นไปตามความต้องการของระบบควบคุมและแสดงผลทั้งระบบซึ่งในปัจจุบันระบบ Computer ที่นำมาต่อกับระบบ SCADA เป็นได้ทั้ง Stand Alone Computer หรือ Network Computer

           1)  Field Interface Unit

                 Field Interface Unit ทำหน้าที่เสมือนเป็น Gateway ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลงโปรโตคอลที่สามารถที่จะติดต่อกับ Computer เนื่องจากบริษัทที่ผลิตระบบ SCADA อาจจะใช้โปรโตคอลในการสื่อสารของบริษัทเองซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถติดต่อกับระบบ Computer ได้และบริษัทที่ผลิต Computer ก็ไม่ได้ผลิตระบบ SCADA ดังนั้นในการที่จะนำระบบทั้ง 2 ระบบมาต่อเชื่อมกันจึงต้องใช้ Gateway เป็นตัวต่อเชื่อมซึ่งกันและกัน ในที่นี้ใช้ MODBUS โปรโตคอลในการติดต่อสื่อสารกับ Computer ซึ่ง MODBUS โปรโตคอลเป็นโปรโตคอลมาตรฐานที่มีใช้อย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรม

           2)  Computer Control Center

                 Computer Control Center ในระบบ SCADA ทำหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการระบบ SCADA ทั้งหมด โดยทำการรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจาก RTU ทุกตัวในระบบโดยผ่าน Field Interface Unit (FIU) ซึ่งจะทำการแปลงโปรโตคอล และทำการจัดการระบบสื่อสารทั้งหมดของระบบ SCADA ทั้ง Time Mode Transmission และ Event Mode Transmission นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ในการแสดงผลข้อมูลของ RTU ทุกตัวในระบบ SCADA และทำการเก็บข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลข้อมูลทั้งระบบลงไว้ในฐานข้อมูลเพื่อเก็บเอาไว้ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป ซึ่ง Computer Control Center สามารถเป็นได้ทั้ง Computer Network ดังแสดงในรูปที่ 3 หรือ Stand Alone ดังแสดงในรูปที่ 4 ตามลำดับ

 

           รูปที่ 3   รูปแสดง Network Computer ของระบบ SCADA ที่ห้องควบคุม

 

           รูปที่ 4 รูปแสดง Stand Alone Computer ของระบบ SCADA ที่ห้องควบคุม

 

           จากรูปที่ 3 และ รูปที่ 4 เป็นรูปแสดงระบบ SCADA ที่ใช้ Computer ที่ Master   Station เป็น Network Computer และ Stand Alone Computer ตามลำดับ ซึ่ง Computer จะทำหน้าที่ในการจัดการระบบเช่น รวบรวมข้อมูลต่างๆที่รับมาจาก RTU และทำการประมวลผลข้อมูลของระบบทั้งหมดและทำหน้าที่ในการจัดการกับระบบสื่อสารทั้งหมดของระบบ SCADA โดยข้อมูลทั้งหมดที่ส่งมาที่ Computer จะส่งผ่าน Field Interface Unit ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลงโปรโตคอลในการสื่อสารข้อมูล นอกจากนั้น Computer ยังทำหน้าที่ในการจัดเก็บ   ข้อมูลต่างๆ ลงฐานข้อมูลเพื่อเก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์และใช้ในเชิงสถิติ

 

           สรุปลักษณะการทำงานของระบบโทรมาตร หรือระบบ SCADA

1)   เป็นระบบที่ใช้ตรวจวัดข้อมูลและใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่อง พร้อมทั้งรายงานข้อมูลทางไกลแบบอัตโนมัติ

2)      การตรวจวัดข้อมูลแบบ Analog และแบบ Digital

3)      ระบบควบคุมการส่งข้อมูลแบบ Self Reporting Mode และ Interrogation Mode

4)      ระบบการส่งข้อมูลเป็นแบบ Event หรือ Time Mode

5)      ระบบสามารถตรวจสอบการทำงานด้วยตนเอง (Self Diagnosis)

6)      การทำงานเป็นแบบ Automatic Real Time System

7)   สามารถขยายการตรวจวัดข้อมูล (Sensor) ที่สถานีสนามและโครงข่ายสถานีตรวจวัด (Station Network) ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อการทำงานประจำ (Routine Performance)

 

          ความเข้าใจในอุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูล

           ในการนำระบบ SCADA มาใช้ในการตรวจวัดข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยานั้นได้มีการนำเอาเครื่องมือตรวจวัด (Sensors) มาต่อกับ Input / Output Module ของ RTU ซึ่งเครื่องมือวัดที่นำมาใช้ได้แก่

           เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน

           การวัดปริมาณน้ำฝน จะใช้เครื่องมือแบบถาดกระดก (Tipping Bucket) โดย Bucket จะถูกต่อเข้ากับ Switch  และนำเอาสัญญาณจาก Switch มาต่อเข้ากับ Digital Input ของ RTU ซึ่งลักษณะของสัญญาณเป็นสัญญาณ Pulse  โดยปริมาณน้ำฝนที่ทำให้เกิดสัญญาณ Pulse 1 สัญญาณหรือ 1 ครั้ง จะมีค่า  0.2, 0.5, 1.0 หรือ 2  มิลลิเมตร ตามข้อกำหนดของเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ซึ่งในข้อกำหนดของโครงการนี้ให้ทำการตรวจวัดทุก 1 มิลลิเมตร

           เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน แบบ Tipping Bucket เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับการใช้งานของระบบโทรมาตร

           เครื่องมือวัดระดับน้ำ

           เครื่องมือวัดระดับน้ำโดยปกติจะวัดระดับความลึกของระดับน้ำในแม่น้ำ โดยค่าที่วัดได้จะถูกแปลงเป็นค่าสัญญาณมาตรฐานซึ่งอาจจะเป็น 0 - 5 Volts หรือ 4 - 20 mA เช่น เครื่องมือวัดระดับน้ำ 0 - 10 เมตร      4 - 20 mA หมายความว่าเครื่องมือวัดระดับน้ำจะส่งสัญญาณ ระดับน้ำ 0 เมตร ด้วยกระแสไฟฟ้า 4 mA และที่ 10 เมตร  ด้วยกระแสไฟ 20 mA  เป็นต้น

           ในการนำเครื่องมือวัดระดับน้ำมาต่อกับ RTU ทำได้โดยต่อสัญญาณ 4 – 20 mA เข้ากับ Analog Input Module ของ RTU ซึ่ง Analog Input Module ก็จะทำการแปลงค่า Analog เป็น Digital โดยใช้ Analog To Digital Converter เพื่อให้ CPU ของ RTU สามารถนำเอาค่า Digital     ดังกล่าวเพื่อนำเอาไปประมวลผลต่อไป   สำหรับข้อกำหนดของเครื่องวัดระดับน้ำของโครงการนี้มีอยู่  2  แบบ  ได้แก่  แบบลูกลอย (Float Gauge) จำนวน  9  สถานี  และแบบแรงดันก๊าซ (Bubble  Gauge) จำนวน 1  สถานี และมีพิสัยการวัด (Range) ที่แตกต่างตามความลึกของแต่ละสถานีซึ่งมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งเครื่องวัดระดับน้ำทั้งสองแบบเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับการใช้งานของระบบโทรมาตร