ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 โทร.สายด่วน 1460 / E- mail : wmsc.1460@gmail.com / http://water.rid.go.th/wmsc

-----------------------------------------------------------------------------

ปรับแผนการใช้น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาวะอากาศ พร้อมมาตรการช่วยเหลือพื้นที่นาปี

            ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ล่าสุด(24 มิ.ย. 58)มีปริมาณน้ำ รวมกัน 7,736 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำ ใช้การได้รวมกันประมาณ  1,040  ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆ รวมกัน จำนวน 32 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำจนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณฝนที่ตกและปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก กรมชลประทานได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวง(เกษตรฯ มหาดไทย ทรัพยากรธรรมชาติฯ และวิทยาศาสตร์ฯ) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.58 ทางกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้คาดการณ์สภาพภูมิอากาศว่า ปริมาณฝนในเดือนกรกฎาคมจะมีไม่มาก และไม่สม่ำเสมอ คาดว่าฝนจะเริ่มตกชุกในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 58 โดยปริมาณฝนทั้งหมดจากปัจจุบันไปจนถึงสิ้นฤดู จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7-10 ประกอบกับในขณะนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนเหลือเพียง 1,067 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำใช้ได้เพียง 32 วัน(ถึงวันที่ 24 ก.ค.58)  ซึ่งยังไม่ถึงช่วงที่ฝนตกชุกตามที่ได้คาดการณ์ไว้  

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำทั้งระบบ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศอย่างรุนแรง ที่ประชุมฯจึงได้มีมติปรับลดแผนการระบายน้ำจากเดิมวันละ 33 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำต้นทุน จำนวน 1,067 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ยืดการใช้น้ำออกไปได้ 45 วัน(ถึงวันที่ 10 ส.ค.58) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจแล้ว สำหรับปริมาณน้ำที่ระบายลงมานี้ จะเน้นเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ในอัตราวันละ 13 ล้าน ลบ.ม.เท่าเดิม และลดการส่งน้ำในส่วนของภาคการเกษตรจากเดิมวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่ปลูกไปแล้ว 3.44 ล้านไร่ ก่อนวันประกาศขอให้ชะลอการเพาะปลูก คิดเป็นร้อยละ 25 หรือประมาณ 0.85 ล้านไร่ ทั้ง 4 กระทรวงฯ จึงได้หามาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยง 0.85 ล้านไร่ ไว้ดังนี้

- บริหารจัดการน้ำที่ได้จัดสรรไว้อย่างเข้มงวด โดยให้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง

- พิจารณาเสริมบ่อน้ำบาดาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)ในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน

-  พิจารณาแนวทางสนับสนุนเกษตรกรในการขุดบ่อตอกหรือบ่อน้ำตื้นในแปลงนา

กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมมือร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรง ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

**********************************

                   24  มิถุนายน  2558