โลโก้(1)

 

 

 

 

 

กรมชลฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มน้ำมูล หวังแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเมืองโคราช

                กรมชลประทาน เดินหน้ายุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มน้ำมูล หวังแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ในเขตจังหวัดนครราชสีมา เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ พร้อมวางแผนเสริมศักยภาพการจัดการน้ำตั้งแต่ พื้นที่ต้นน้ำ   จนถึงปลายน้ำ

                นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ และเขื่อนลำปลายมาศ โดยมีแม่น้ำมูลเป็นเส้นเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร และการอุปโภคบริโภคของชาวโคราช แม้กระนั้น ในหลายพื้นที่ยังคงประสบกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งแทบทุกปี โดยเฉพาะในปี 2553 และ 2556 ที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และลำเชียงไกร ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งพื้นที่เกษตรและชุมชนเมืองตลอดทั้งสองฝั่งลำน้ำ

          จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น กรมชลประทาน จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำมูล เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทั้งระบบ โดยในพื้นที่ต้นน้ำ ได้วางมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง เช่น การปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนบน) ตลอดจนการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม ส่วนพื้นที่กลางน้ำ ได้มีมาตรการชะลอน้ำ โดยการพัฒนาพื้นที่เป็นแก้มลิงสำหรับเก็บและชะลอน้ำ สร้างระบบผันน้ำและระบายน้ำออกนอกพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมือง สำหรับพื้นที่ ปลายน้ำ มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ให้สามารถระบายน้ำในฤดูน้ำหลากได้มากขึ้น

          ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริโครงการอ่างพวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ ให้กับเขื่อนลำพระเพลิง โดยการยกระดับสันอาคารระบายน้ำล้นให้สูงขึ้น จนสามารถเพิ่มความจุจากเดิม 105 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 155 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายของโครงการฯลำพระเพลิง เพื่อเพิ่มความจุจาก 12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 22 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับทำการผันน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงไปอ่างเก็บน้ำลำสำลาย และขุดลอกอ่างเก็บน้ำลำสำลาย เพื่อเพิ่มความจุจากเดิม 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 42.20 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ สามารถรองรับการใช้งานในฤดูฝนนี้ได้แล้ว

          อนึ่ง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและผันน้ำเขื่อนลำพระเพลิงและอ่างเก็บน้ำลำสำลาย เป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เกษตรกรในพื้นที่การเกษตรเดิม 75,000 ไร่ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 176 ล้านบาทต่อปี มีพื้นที่การเกษตรเกิดใหม่อีกกว่า 18,000 ไร่ มีรายได้เพิ่มขึ้น 40 ล้านบาทต่อปี และยังบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอปักธงชัย  และอำเภอโชคชัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ และอำเภอเมืองนครราชสีมาด้วย

            สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร ซึ่งเป็นอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ที่มักจะประสบกับปัญหาภัยแล้งและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกปี นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร โดยการเพิ่มความจุ  อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน จากเดิม 4.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 9 ล้านลูกบาศก์เมตร และขุดลอกลำน้ำ พร้อมกับสร้างอาคารบังคับน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนบน)ไปยังอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้วในปี2558   

นอกจากนี้ ยังได้มีแผนปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) จากเดิม 27.70 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 37.70 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับการพัฒนาขุดลอกลำเชียงไกรตลอดความยาว 122 กิโลเมตร จนไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2560 – 2562 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะส่งผลดีต่อพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานกว่า 25,000 ไร่ อีกทั้ง เมื่อมีปริมาณน้ำเหลือ ยังจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการสร้างความมั่นคงการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตอำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนไทย และอำเภอโนนสูงอีกด้วย

จากโครงการต่างๆที่ได้กล่าวมาทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูลอย่างเป็นระบบ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูลระหว่างปี 2558 – 2569 รวม 1,415 โครงการ ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการทั้ง ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยแบ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 263 โครงการ   คิดเป็นร้อยละ18.6 ของจำนวนโครงการในลุ่มน้ำมูล หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ  อย่างยั่งยืน และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในลุ่มน้ำมูลสืบไป  

 

 

**********************************

                   25  พฤษภาคม  2559