เขื่อนใหญ่บางแห่ง เริ่มมีน้ำไหลลงอ่างฯบ้างแล้ว แต่ปริมาณยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย
สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ บางแห่งเริ่มมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงการระบายน้ำรวมกันวันละ18 ล้านลูกบาศก์เมตร ย้ำทุกเขื่อนให้เน้นเก็บน้ำตลอดฤดูฝนให้ได้มากที่สุด
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ล่าสุด (7 มิ.ย. 59) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 31,152 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,718 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา(ระหว่างวันที่ 1 7 มิ.ย. 59) เขื่อนหลายแห่งเริ่มมีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมมากขึ้น อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง 13.20 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพล จ.ตาก 4.19 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ 99.51 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก 32.30 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 4.74 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 14.17 ล้าน-ลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 3.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น แม้ว่าจะมีน้ำไหลลงอ่างฯ แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน ทั่วประเทศ เน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาและไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้ว่า 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) จะเริ่มมีน้ำไหลลงอ่างฯ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก เนื่องจากการกระจายของฝนด้านเหนือเขื่อน ยังไม่มากพอ ปัจจุบัน(7 มิ.ย.) ทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,085 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 1,389 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระบายน้ำลงมาใช้รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น
ในส่วนของภาคการเกษตร หากในพื้นที่ใดมีฝนตกสม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเพียงพอ เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตามปกติ ส่วนในพื้นที่ที่ฝนยังตกไม่สม่ำเสมอ ขอให้รอไปก่อนจนกว่าฝนจะตกชุกเป็นปกติ จึงค่อยลงมือทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนต่อไป ซึ่งกรมชลประทาน จะใช้อาคารบังคับน้ำและอาคารชลประทานต่างๆควบคุมน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานไปยังพื้นที่การเกษตรได้อย่างทั่วถึง ช่วยลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆในช่วงฤดูฝน และเก็บกักน้ำในเขื่อนไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด
**********************************
8 มิถุนายน 2559