แผนจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปี 59/60 : เดินหน้าแผนปรับเปลี่ยนการปลูกพืชลดนาปรัง

          กรมชลประทาน วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559/2560 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมเดินหน้าปรับเปลี่ยนการปลูกพืชทดแทนการทำนาปรัง เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559/2560 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 31,245 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศได้ประมาณ 10.35 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 3.91 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.65 ล้านไร่ พืชอื่นๆ 3.57 ล้านไร่ รวมกับพื้นที่ส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศอีก 2.22 ล้านไร่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการปรับลดพื้นที่การทำนาปรังในเขตชลประทาน เพื่อให้ผลผลิตเหมาะสมกับความต้องการของตลาดและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ด้วยการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชหลากหลาย และพืชปุ๋ยสด ทดแทนการทำนาปรัง ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำสำหรับการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำและผลผลิตเสียหายได้เป็นอย่างดี 

          สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 ด้วยการ  ใช้น้ำจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 59 – 30 เม.ย. 60 ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมกันเป็นจำนวน 9,704 ล้านลูกบาศก์เมตร   แยกเป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร การรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตร และการเกษตร 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 อีก 3,754 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร นั้น ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้รวมกันประมาณ 5.03 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรังประมาณ 2.60 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.08 ล้านไร่ พืชอื่นๆ 0.97  ล้านไร่ และพืชที่ได้ส่งเสริมให้เพาะปลูกแทนข้าวอีกประมาณ 1.38 ล้านไร่  

         อนึ่ง ในส่วนของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม สำหรับเฉพาะการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา เขื่อนปราณบุรี   จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ คงเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชใช้น้ำน้อย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา

          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในช่วงฤดูแล้งปีนี้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรม แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันรณรงค์ ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้เกิดความมั่นคงในด้านการใช้น้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป

          กรมชลประทาน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

23 พฤศจิกายน 2559