กรมชลฯ ชี้แจงกรณีพื้นที่น้ำท่วมทุ่งสัมฤทธิ์ ไม่มีหน่วยงานใดแก้ไขปัญหา

         กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวในเขตทุ่งสัมฤทธิ์ จังหวัดนครราชสีมา เคยมีการร้องมายังกรมชลประทาน ให้ขุดคลองระบายน้ำ แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นั้น

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ขอชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวหอมมะลิ ในเขตอำเภอพิมาย อำเภอประทาย อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ นั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยในเขตอำเภอพิมาย กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่อง  สูบน้ำจำนวน 16 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บ้านชีวาน บ้านซาด เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำสะแทดตอนบน 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ระบายน้ำลงสู่ลำสะแทดโดยตรง สามารถลดระดับน้ำให้เกี่ยวข้าวได้ประมาณ 3-5 วัน ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 3,000 ไร่ ส่วนแนวทางที่ 2 อาศัยคลองระบายน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ ระบายน้ำลงสู่ลำสะแทด ช่วยให้เก็บเกี่ยวข้าวได้ประมาณ 1-7 วัน ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 10,000 ไร่

ส่วนในพื้นที่ตอนล่างของลำสะแทด บริเวณอำเภอประทาย อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ อาทิ แม่ทัพภาคที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอเมืองยาง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระเบื้องนอก และสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดนครราชสีมาสนับสนุนสะพาน Bearing โดยได้ดำเนินการตัดถนนสายกระเบื้องนอก-บุ่งเบา ในพื้นที่อำเภอเมืองยาง เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เพื่อเร่งการระบายน้ำในลำสะแทดให้เร็วขึ้นและส่งผลให้ระดับน้ำในลำสะแทดลดลง น้ำที่ท่วมขังนาข้าวในท้องทุ่งสัมฤทธิ์ทั้ง 2 ฝั่งลำสะแทด จึงไหลลงสู่ลำสะแทดได้อย่างสะดวกตามไปด้วย การดำเนินการดังกล่าว นับได้ว่าเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันภายใน ๒๒ ชั่วโมง ปัจจุบันระดับน้ำได้ลดลงและสามารถนำรถเกี่ยวข้าวเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวหอมมะลิได้แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 7 วัน นับจากวันที่ 25 พ.ย. 2559 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว จะเข้าสู่สภาวะปกติ 

สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว นั้น กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้พิจารณาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำสะแทดให้มากขึ้น ด้วยการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง รวมทั้งเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เช่น โครงการแก้มลิงเพื่อช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน สำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่ในช่วงฤดูแล้งของทุกปีด้วย

          ทั้งนี้ ในกรณีที่ได้มีการกล่าวอ้างถึงว่า กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เคยร้องเรียนไปยังกรมชลประทาน ให้ขุดคลองระบายน้ำ แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ในทุกปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน ไม่เคยละเลยปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีความพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะต้องใช้ที่ดินของเกษตรกรริมคลองระบายบางส่วน เพื่อทิ้งดินและปั้นคันกั้นน้ำ แต่ติดปัญหาราษฎรตามแนวคลองระบายน้ำ ไม่ยินยอมยกที่ดินให้ทางราชการ ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำตามที่ได้ร้องขอ การดำเนินการขุดคลองระบายจึงไม่สามารถทำได้ อีกทั้ง ยังมีเกษตรกรบางส่วนได้ทำถนนเข้าที่นาของตนเอง โดยใช้ท่อขนาดเล็กในการระบายน้ำไปลงลำสะแทด แต่ด้วยขนาดของท่อระบายน้ำที่ใช้มีขนาดเล็กมาก เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ซึ่งกรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงพยายามทุกวิถีทาง เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

 

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                  28  พฤศจิกายน  2559