สถานการณ์น้ำท่วมนาข้าวหอมมะลิเมืองย่าโม เริ่มคลี่คลายสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว

            น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวหอมมะลิเมืองย่าโม เริ่มคลี่คลายและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เกือบทั้งหมดแล้ว หลังหลายหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกัน เข้าไปช่วยเหลือเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวหอมมะลิ ในเขตอำเภอพิมาย อำเภอประทาย อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น กรมชลประทานได้ร่วมกับแม่ทัพภาคที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอเมืองยาง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระเบื้องนอก และสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดนครราชสีมาสนับสนุนสะพาน Bearing ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการตัดถนนสายกระเบื้องนอก-บุ่งเบา ในเขตอำเภอเมืองยาง เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เพื่อเร่งการระบายน้ำและลดระดับน้ำในลำสะแทดลง ทำให้น้ำที่ท่วมขังนาข้าวในท้องทุ่งสัมฤทธิ์ทั้ง 2 ฝั่งลำสะแทด ไหลลงสู่ลำสะแทดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การดำเนินการดังกล่าว นับได้ว่าเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันภายใน ๒๒ ชั่วโมง ทำให้สามารถนำรถเกี่ยวข้าวเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวหอมมะลิได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2559 เป็นต้นมา ปัจจุบันสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้แล้วประมาณ 2,500 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 25,000 ไร่ ระดับน้ำที่ท่วมขังลดลงต่อเนื่อง คาดว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

สำหรับในพื้นที่อำเภอพิมาย ภายหลังจากกรมชลประทาน ได้นำเครื่องสูบน้ำจำนวน 16 เครื่อง เร่งระบายน้ำ   ออกจากพื้นที่บ้านชีวาน บ้านซาด เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำสะแทดตอนบน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศิจกายน 2559 เป็นต้นมา ตามแนวทางที่ได้วางไว้ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ระบายน้ำลงสู่ลำสะแทดโดยตรง และแนวทางที่ 2 อาศัยคลองระบายน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ ระบายน้ำลงสู่ลำสะแทด นั้น ปัจจุบันผลการสูบน้ำช่วยเหลือชาวนา ผ่านไป 1 สัปดาห์ ระดับน้ำลดลงเหลือ 20 - 30 เซนติเมตร จากระดับน้ำท่วมสูง 50 – 70 เซนติเมตร รถเกี่ยวข้าวสามารถลงเกี่ยวได้กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยข้าวหอมมะลิได้เก็บเกี่ยวหมดแล้ว คงเหลือแต่ข้าวหนักที่รอการเก็บเกี่ยว คาดว่าอีกประมาณ 1 สัปดาห์ จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ในกรณีที่ได้มีการนำเสนอข่าวว่า กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เคยร้องเรียนไปยังกรมชลประทาน ให้ขุดคลองระบายน้ำ แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ในทุกปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน ไม่เคยละเลยปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีความพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะต้องใช้ที่ดินของเกษตรกรริมคลองระบายบางส่วน เพื่อทิ้งดินและปั้นคันกั้นน้ำ แต่ติดปัญหาราษฎรตามแนวคลองระบายน้ำ ไม่ยินยอมยกที่ดินให้ทางราชการ ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำตามที่ได้ร้องขอ การดำเนินการขุดคลองระบายจึงไม่สามารถทำได้ อีกทั้ง ยังมีเกษตรกรบางส่วนได้ทำถนนเข้าที่นาของตนเอง โดยใช้ท่อขนาดเล็กในการระบายน้ำไปลงลำสะแทด แต่ด้วยขนาดของท่อระบายน้ำที่ใช้มีขนาดเล็กมาก เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ซึ่งกรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงพยายามทุกวิถีทาง เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

 

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                  30  พฤศจิกายน  2559