http://water.rid.go.th/news/news_59_111_files/image001.jpg 

 

 

 

 

 


สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ หลังฝนตกหนัก ย้ำทุกโครงการฯเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ

          สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง หลังเกิดฝนตกหนัก ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งมาก ย้ำทุกโครงการชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือ 24 ชั่วโมง

          นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างว่า เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยพื้นที่จังหวัดสงขลา วัดปริมาณฝนสูงสุดที่อำเภอนาหม่อม ได้ 230.40 มิลลิเมตร และอำเภอจะนะ วัดได้ 241.80 มิลลิเมตร จังหวัดยะลา วัดปริมาณฝนสูงสุดที่อำเภอเมืองยะลา ได้ 202 มิลลิเมตร จังหวัดปัตตานี วัดปริมาณฝนสูงสุดที่อำเภอสายบุรี ได้ 308 มิลลิเมตร และจังหวัดนราธิวาส วัดปริมาณฝนสูงสุดที่อำเภอเมืองนราธิวาส ได้ 188 มิลลิเมตร ลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต่ำกว่าระดับน้ำตลิ่ง โดยในพื้นที่จังหวัดสงขลา เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมระยะเวลาสั้นๆประมาณ 2 -3 ชั่วโมง ในเขตเทศบาลและชุมชนริมคลองในพื้นที่อำเภอจะนะ เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ส่วนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ คลองระบายทั้ง 7 สาย ยังสามารถทำหน้าที่ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับระดับน้ำในคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ วัดระดับน้ำที่สถานีบ้านหาดใหญ่ใน ได้ 1.11 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 6.29 เมตร ทำให้พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆของจังหวัดสงขลาไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

สำหรับจังหวัดยะลา และปัตตานี มีแม่น้ำปัตตานีเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านทั้งสองจังหวัด และมีเขื่อนบางลาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำปัตตานี มีความจุ 1,454 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 7.78 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเก็บกัก 428 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 1,026 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนในแม่น้ำปัตตานี ที่อำเภอเมืองยะลา มีระดับน้ำ 4.62 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 6.38 เมตร และอำเภอเมืองปัตตานี มีระดับน้ำ 0.28 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 0.87 เมตร ทั้งนี้ บริเวณที่เกิดฝนตกหนัก ในเขตอำเภอเมืองยะลาและอำเภอเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเล น้ำจะไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าว ในส่วนของจังหวัดนราธิวาส นั้น ฝนที่ตกหนักทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโก-ลก มีระดับเพิ่มสูงขึ้น วัดระดับน้ำที่สะพานลันตู อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมเป็นประจำปีละสองถึงสามครั้ง ปัจจุบันมีระดับน้ำ 5.96 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.24 เมตร ยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจแต่อย่างใดเช่นกัน

กรมชลประทาน ได้ให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำไว้แล้วตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน และตรวจสอบความพร้อมการใช้งานของระบบชลประทาน ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ คันกั้นน้ำ ให้พร้อมจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วมของหน่วยงานอื่นๆ   ทั้งในส่วนของจังหวัด เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบว่ามีปัญหาหรือมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ให้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมปรับปรุงให้สามารถใช้งานป้องกันอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 228 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 10 เครื่อง เครื่องจักรรถขุด 30 คัน เรือขุด 7 ลำ รถแทรคเตอร์ 5 คัน รถบรรทุก 48 คัน รถบรรทุกน้ำ 10 คัน พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ โดยให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที

 

***********************************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เวลา 10.00 น. 2 ธันวาคม  2559