http://water.rid.go.th/news/news_59_111_files/image001.jpg 

 

 

 


สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ : มั่นใจแล้งนี้มีน้ำพอใช้ ย้ำต้องร่วมกันประหยัด

 

        กรมชลประทาน มั่นใจฤดูแล้งปีนี้มีน้ำเพียงพอใช้ ย้ำต้องร่วมแรงร่วมใจกันประหยัดน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต

        นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งประเทศว่า ปัจจุบัน(21 ธ.ค. 59) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,869 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 26,343 ล้านลูกบาศก์เมตร

        สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะทำงานวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้ง ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2559/60 ด้วยการกำหนดให้มีการใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)เป็นปริมาณน้ำรวมกัน 5,950  ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มส่งน้ำตั้งแต่ 1 พ.ย. 59 – 30 เม.ย. 60 ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน แยกเป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร การรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตร และการเกษตร 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 อีก 3,754 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปัจจุบัน(21 ธ.ค. 59)ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,673 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 1,040 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 17 ของแผนการจัดสรรน้ำ(แผนจัดสรรน้ำกำหนดไว้ 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือน้ำใช้การได้ไปจนถึงเดือนเมษายน 2559 อีกประมาณ 4,910 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 39 ล้านลูกบาศก์เมตร

        ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,690,000 ไร่ จากแผนที่วางไว้ 2,600,000 ไร่ พืชไร่ – พืชผัก มีพื้นที่เพาะปลูกไปแล้ว 30,000 ไร่ จากแผนที่วางไว้ 1.45 ล้านไร่ แนวโน้มพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังยังคงเพิ่มขึ้น

        สำหรับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เฉพาะการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ คงเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชใช้น้ำน้อย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา

ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง จะมีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งปีนี้และหลายแห่งมีปริมาณมากกว่าปีผ่านๆมา แต่ยังคงต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในปีต่อๆไปอย่างไม่ขาดแคลน และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้น้ำตลอดไปด้วย

อนึ่ง สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและพื้นที่การเกษตรบางแห่ง ซึ่งกรมชลประทานยังคงสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วในระยะต่อไป

 

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เวลา 12.00น. / 21  ธันวาคม  2559