http://water.rid.go.th/news/news_59_111_files/image001.jpg 

 

 

 

 

 


สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ : นครศรีฯ น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

          ปริมาณน้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังกรมชลประทาน ระดมเครื่องสูบน้ำลงไปเพิ่มเติม หากฝนไม่ตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ปกติภายใน 5 วัน

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ด้วยพล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างมาก ได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือลงไปติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งในเรื่องของเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกลต่างๆ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2559 ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ลดผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว  ถ้าไม่เช่นนั้นสถานการณ์น้ำท่วม จะประสบปัญหาเสียความเสียหาย และใช้ระยะเวลากว่าน้ำจะลดมากกว่านี้มากสรุปสถานการณ์ได้ดังนี้  

          จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำในพื้นที่อ.บางสะพาน ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ส่วนระดับน้ำในคลองต่างๆลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว สำหรับในพื้นที่โรงพยาบาลบางสะพาน ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำแอ่งกระทะ สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว พร้อมเปิดให้บริการได้ตามปกติตั้งแต่วานนี้(13 ม.ค. 60) กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง บริเวณด้านหน้าและด้านท้ายโรงพยาบาลบางสะพาน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ฝนที่อาจจะตกลงมาอีกในช่วงวันที่ 16 – 18 ม.ค. 60 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนไว้

          จังหวัดนครศรีธรรมราช สถานการณ์น้ำท่วมในเขตอ.ชะอวด เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตอนบนบางส่วนและปากพนังตอนล่าง ยังคงมีน้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำก่อนออกสู่ทะเล ปัจจุบันมีปริมาณน้ำคงเหลือในพื้นที่ประมาณ 450 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำท่วมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 60) เนื่องมาจากกรมชลประทาน ได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเข้าไปเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น สามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว โดยการระบายน้ำต้องคำนึงถึงการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งด้วย

          สำหรับเครื่องสูบน้ำที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือมีจำนวนทั้งสิ้น 87 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำอีก 63 เครื่อง และยังมีเรือผลักดันน้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรืออีก 70 เครื่องด้วย นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เร่งระบายน้ำในพื้นที่บ้านบางไทร ต.บ้านใหม่ อ.ปากพนัง จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้รวดเร็วมากขึ้น หากฝนไม่ตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าจะสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3 - 5 วัน

          จังหวัดตรัง พื้นที่ตอนบนในเขตอ.ห้วยยอด เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือพื้นที่น้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำตรัง ในเขตอ.เมือง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร แนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้(14 ม.ค. 60) กรมชลประทาน สนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยระบายน้ำแล้ว 6 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 10 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อ.เมืองตรัง ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่อ.กันตัง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลต่อไป

          จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำในแม่น้ำตาปี ที่อ.พระแสง ยังสูงกว่าตลิ่ง 62 เซนติเมตร แนวโน้มลดลง คาดว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่ง ในวันที่ 15 ม.ค. 60 ส่วนที่อ.เคียนซา ระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 1.84 เมตร แนวโน้มลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 19 ม.ค. 60 และที่อ.พุนพิน ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 28 เซนติเมตร แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากอ.พระแสงและอ.เคียนซา และได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน กรมชลประทาน ได้สนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำตาปี 10 เครื่อง และได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จากกองทัพเรืออีก 26 ลำ เพื่อให้ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วที่สุด

           สำหรับการเตรียมการรับสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงวันที่ 16 – 18 ม.ค. 60 นั้น กรมชลประทาน ได้วางมาตรการต่างๆ ไว้รองรับ อาทิ การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม จากของเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำให้มากที่สุด เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างไว้รองรับฝนที่จะตกมาในระลอกใหม่ การตรวจสอบอาคารชลประทานต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และเร่งดำเนินการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด สำหรับในพื้นที่ที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ยังคงเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ ที่ได้ติดตั้งไว้เพื่อระบายน้ำก่อนหน้านี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ หากเกิดฝนตกหนักอีกระลอก

          ในส่วนของเครื่องจักร เครื่องมือ ที่กรมชลประทานได้จัดส่งไปสนับสนุนการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ภาคใต้ จนถึงปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้ เครื่องสูบน้ำที่ออกปฏิบัติการ รวมทั้งสิ้น 134 เครื่อง มีเครื่องสูบน้ำที่พร้อมใช้งานสำรองไว้อีก 105 เครื่อง ส่วนเครื่องผลักดันน้ำ มีที่ออกปฏิบัติการ รวมทั้งสิน 78 เครื่อง สำรองพร้อมใช้งานอีก 34 เครื่อง และสถานีสูบน้ำอีก 8 สถานี นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ จากส่วนกลางไว้เพิ่มเติมประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 388 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 51 เครื่อง

 

***************************************

 

กรมชลประทาน 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เวลา 10.00 น. / 14 ม.ค. 60