http://water.rid.go.th/news/news_59_111_files/image001.jpg
 

 

 

 

 


การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยมตอนล่างในช่วงฤดูแล้ง

          กรมชลประทาน วางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยมตอนล่างในช่วงฤดูแล้ง เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีน้ำกินน้ำใช้ถึงเดือนกรกฎาคมแน่นอน

          นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2560 นี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนบริการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยในเขตพื้นที่จ.สุโขทัย จะใช้ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์(ปตร.) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และฝายยางน้ำในแม่น้ำอีก 4 แห่ง(ฝายคลองกระจง ฝายเกาะวงษ์เกียรติ์ ฝายบ้านกง และปตร.วังสะตือ) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 23 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 105,286 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2560 ส่วนใหญ่จะใช้น้ำนอนคลองในแม่น้ำยมและน้ำที่ระบายมาจากปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์เป็นครั้งคราว กรมชลประทานจะควบคุมการระบายน้ำตามความต้องการที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะเพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2560

          นอกจากนี้ ในพื้นที่จ.สุโขทัย ยังมีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 6 แห่ง(อ่างฯแม่มอก(ลำปาง) อ่างฯห้วยท่าแพ อ่างฯแม่กองค่าย อ่างฯห้วยแม่สูง อ่างฯคลองข้างใน และอ่างฯห้วยทรวง) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 109.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้สำหรับสนับสนุนการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง วันละประมาณ 0.75 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2560 ปริมาณน้ำจึงเพียงพอใช้ไปจนถึงช่วงต้นฤดูฝน ในส่วนของแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การได้ 13.23 ล้านลูกบาศก์เมตร มีความต้องการใช้น้ำประมาณเดือนละ 0.40 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอที่จะสนับสนุนการอุปโภค-บริโภคไปจนถึงฤดูฝนเช่นกัน

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยมในเขตจ.พิษณุโลก ในช่วงปลายฤดูฝนที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการชักน้ำมา เก็บกักไว้ในบึงตะเคร็ง บึงระมาณ และบึงขี้แร้ง รวมกันได้ประมาณ 23 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของปริมาตรเก็บกักทั้งหมด ปัจจุบันมีปริมาณเก็บกัก 15.95 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่เพาะปลูกรวม 3 บึง ประมาณ 3,700 ไร่ ปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก

ในส่วนของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านบริเวณอ.โพธิ์ประทับช้าง และอ.โพทะเล จ.พิจิตร นั้น จะฝายยาง 3 แห่งได้แก่ ฝายยางสามง่าม ฝายยางพญาวัง และฝายยางบางคลาน เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ฤดูแล้ง ได้มีการยกฝายยางขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 8.42 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 33 สถานี ประมาณ 45,000 ไร่ ใช้น้ำวันละประมาณ 0.28 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะใช้น้ำจากแม่น้ำยมได้ถึงจนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นเกษตรกรจะใช้น้ำจากบ่อตอก บ่อน้ำตื้น และแหล่งน้ำใกล้เคียง จนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จโดยไม่เกิดความเสียหาย

          ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่จ.สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1,459,578 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทาน 913,988 ไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 545,590 ไร่ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือ หากเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น โดยได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำไว้ช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำ รวมไปถึงวิธีการปรับตัว และวิธีลดผลกระทบจากภัยแล้งแก่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการจ้างแรงงานภาคการเกษตร เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนในช่วงฤดูแล้ง

          สำหรบการปรับเปลี่ยนฤดูกาลเพาะปลูกของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวร นั้น ที่ได้มีการเลื่อนการเพาะปลูกขึ้นมาให้เร็วขึ้นเป็นเดือนเมษายน เพื่อให้ทันเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงเวลาดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 155 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 244,820 ไร่

ในส่วนของผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลุ่มน้ำยม มีโครงการที่ได้ดำเนินการและมีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองยม-น่าน ในเขตจ.สุโขทัย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2560 นอกจากนี้ ยังมีโครงการได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองเมม(แม่น้ำยมสายเก่า) และโครงการคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา(คลองสุชน-คลองตะโม่-แก้มลิง)พร้อมอาคารประกอบ(ระยะเร่งด่วน) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำใหญ่ ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนขนาดใหญ่เหมือนเช่นลุ่มน้ำอื่นๆ ปริมาณน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติจึงค่อนข้างจำกัด การบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่สามารถแบ่งปันกันใช้ ได้อย่างเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้ง จึงขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ จะไม่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

 

********************************************

 

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 10  กุมภาพันธ์  2560