http://water.rid.go.th/news/news_59_111_files/image001.jpg
 

 

 

 


สถานการณ์น้ำเมืองชัยนาท และการสนับสนุนน้ำในพื้นที่แปลงใหญ่

          กรมชลประทาน สนับสนุนน้ำพื้นที่แปลงใหญ่เมืองชัยนาท พร้อมวอนเกษตรกรลดพื้นที่ทำนาปรัง หลังพบพื้นที่จังหวัดชัยนาท ปลูกเกินแผนไปแล้วกว่า 220,000 ไร่  

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน  (9 มี.ค. 60)ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำใช้การได้ รวมกัน 6,624 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การ กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(1 พ.ย. 59 – 30 เม.ย 60) รวมทั้งสิ้น 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,694 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 79  ของแผนการจัดสรรน้ำฯ มากกว่าแผนที่วางไว้ 457 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับในพื้นที่จังหวัดชัยนาท นั้น มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 660,000 ไร่ มีเขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนทดน้ำ และมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ 13 แห่ง ปริมาณน้ำเก็บกักสูงสุดรวมกัน 4.07 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 3.18 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังตามแผนที่วางไว้ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 221,314 ไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 11,692 ไร่ รวมทั้งสิ้น 233,006 ไร่ ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ณ 1 มี.ค. 60 พบว่ามีการเพาะปลูกไปแล้ว 449,966 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 443,022 ไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 6,944 ไร่ จะเห็นได้ว่ามีพื้นที่เพาะปลูกเกินแผนไปมากถึง 221,708 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานทั้งหมด จึงขอให้เกษตรกรลดพื้นที่ทำนาปรังหรือพักการทำนาปรังรอบ 2 เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลผลิตที่อาจจะขาดแคลนน้ำได้

ในส่วนของมาตรการ/โครงการภายใต้แผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรจังหวัดชัยนาท ปี 2559/60 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6 มาตรการ 30 โครงการ นั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัด ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรประจำ 8 ศูนย์ ,การลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรทฤษฎีใหม่ และการขอความร่วมมืองดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง รอบที่ 2 ,การส่งเสริมโครงการปลูกข้าวเปียกสลับแห้งจำนวน 22 ราย ,การขุดลอกแก้มลิง 1 แห่ง ขุดลอกหน้าฝาย 2 แห่ง ทำให้ได้น้ำเพิ่มขึ้น 0.26 ล้านลูกบาศก์เมตร ,การจ้างแรงงานเกษตรกร 1,920 ราย ตั้งแต่ พ.ย. 59 - 30 ก.ย. 60 นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องสูบน้ำ 65 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำอีก 3 คัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

ในส่วนของโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดชัยนาท นั้น กรมชลประทาน ได้สนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่แปลงใหญ่ ได้แก่ พื้นที่แปลงใหญ่บ้านพระแก้ว ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี พื้นที่ประมาณ 3,595 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 225 ราย ปัจจุบันได้ส่งน้ำให้กับแปลงใหญ่แห่งนี้ ผ่านคลองส่งน้ำ 1 ซ้าย – 1 ขวา ซึ่งเป็นคลองดิน ทำให้มีข้อจำกัดในการส่งน้ำ กรมชลประทาน ได้เสนอให้มีการปรับปรุงคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ โดยการปรับปรุงคลองดินให้เป็นคลองดาดคอนกรีต ความยาวประมาณ 4.2 กิโลเมตร หากดำเนินการได้จะทำให้ส่งน้ำได้ 3.84 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งน้ำไปยังพื้นที่แปลงใหญ่ได้มากขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างขออนุมัติงบประมาณปี 2561

นอกจากนี้ ยังมีโรงสูบน้ำธรรมามูลที่สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง โดยได้ทำการสูบน้ำสนับสนุนการใช้น้ำให้กับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 ,สวนนกชัยนาท ,เทศบาลตำบลธรรมามูล รวมไปถึงราษฎรในเขต ต.ธรรมามูล ต.เขาท่าพระ และต.บ้านกล้วย อ.เมืองชัยนาท ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้

สำหรับพื้นที่แปลงใหญ่บ้านหางแขยง และกลุ่มปลูกหญ้าแพงโกล่า ในพื้นที่อำเภอมโนรมย์ นั้น กรมชลประทาน ได้สนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูก โดยการส่งน้ำด้วยระบบ Pumping ผ่านคลองส่งน้ำ 2 ขวา - ชัยนาท - ป่าสัก และคลองส่งน้ำสายซอย 1 ซ้าย – 2 ขวา - ชัยนาท - ป่าสัก พร้อมระบบแพร่กระจายน้ำในคูคลองต่างๆ ให้ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการของระบบชลประทาน กรมชลประทาน ได้ดำเนินการปรับปรุงคลองดาดคอนกรีตและขุดลอกคลองระบายน้ำ เพื่อให้น้ำไหลไปสู่แปลงใหญ่ได้เร็วและมากขึ้นด้วย

 

*****************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 10  มีนาคม  2560