http://water.rid.go.th/news/news_59_111_files/image001.jpg
 

 

 

 

 


ใกล้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พร้อมวางแผนรับมือฤดูน้ำหลากปี 2560

ใกล้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พืชผลทางการเกษตรในช่วงฤดูแล้งไม่เสียหาย ผลพวงจากการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมวางแผนรับมือฤดูน้ำฝนที่กำลังจะมาถึง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ไม่รุนแรงมากนัก พืชผลทางการเกษตรในช่วงฤดูแล้งไม่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะนาข้าวรอบที่2(ปรัง 1)ทั่วประเทศที่ปลูกเกินเกือบ 2 เท่าของแผนฯ เนื่องมาจากการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558 - 2569 ที่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำได้มากกว่า 4 เท่าของรัฐบาลที่ผ่านมา เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 2,069.30 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทานเพิ่ม 1.59 ล้านไร่ และยังเป็นผลมาจากการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ได้มากกว่าปี 2559 ประมาณ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การเก็บกักน้ำในแก้มลิงต่างๆ ที่ได้ก่อสร้างไว้ทั่วประเทศ การประสานความร่วมมือกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนที่มีน้ำน้อย การกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยแล้งปี 2559/60 จำนวน 6 มาตรการ 30 โครงการ เช่น การส่งเสริมให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย การเพิ่มน้ำต้นทุน การจัดทำแผนชุมชน และการจ้างแรงงาน เป็นต้น

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 ไว้ 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร(เริ่มวันที่  1 พ.ย. 59 - 30 เม.ย. 60) แต่พบว่ามีการทำนารอบที่ 2(นาปรังครั้งที่ 1)เกินกว่า 2 เท่าของแผนที่วางไว้ ทำให้มีการดึงน้ำไปใช้มากเกินกว่าแผนที่ได้จัดสรรไว้ คาดว่าผลการระบายน้ำรวมตลอดทั้งฤดูจะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 6,650 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามตลอดในช่วงฤดูแล้งอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังคงมีน้ำไหลลงอ่างฯอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 60 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,420 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าที่วางแผนไว้เดิมประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร(แผนเดิมสำรองน้ำไว้ 3,754 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยจะจัดสรรน้ำสำหรับใช้ในช่วงฤดูฝน เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ   วันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลือวางแผนสนับสนุนการเพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็นพื้นที่ตอนบนตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ เริ่มส่งน้ำทำการเพาะปลูกแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 60 ส่วนพื้นที่ดอนอีกประมาณ 1.92 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำจากระบบชลประทาน  ส่วนพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา มีพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 1.15 ล้านไร่ จะเริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ตั้งแต่ 1 พ.ค. 60 เป็นต้นไป ได้แก่บริเวณทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งเชียงราก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งบางกุ้ง และทุ่งเจ้าเจ็ด เป็นต้น ส่วนในพื้นที่ดอนที่มีพื้นที่ประมาณ 4.27 ล้านไร่ ให้เริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำจากระบบชลประทานเช่นกัน

ส่วนการวางแผนป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2560 ได้กำหนดมาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ การคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยใช้ Reservoir Operation Simulation และ Reservoir Operation Rule Curve การตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน การใช้ระบบโทรมาตรเพื่อพยากรณ์น้ำและเตือนภัย การควบคุมปริมาณน้ำให้ได้ตามเกณฑ์ การเชื่อมโยงข้อมูล และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ และการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืช เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เป็นต้น ส่วนมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง นั้น จะดำเนินตามแผนงานขุดลอก การซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทาน ตัดยอดน้ำหลากเพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชน รวมไปถึงการใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานในการควบคุมปริมาณน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรด้วย

 

กรมชลประทาน

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 27  เมษายน  2560