http://water.rid.go.th/news/news_59_111_files/image001.jpg
 

 

 

 


เดินหน้าแผนพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย

กรมชลประทาน เดินหน้าแผนพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังที่ประชุมกนช. เห็นชอบในหลักการให้กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินการตามโครงการฯที่นำเสนอ โดยให้เน้นภารกิจเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ในทันทีก่อน

           นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ(กนช.)ได้เห็นชอบในหลักการ ให้กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผนงาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 60 ที่ผ่านมา โดยให้พิจารณาแผนงานเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันทีก่อน 7 แผนงาน นั้น สืบเนื่องจากสภาพในปัจจุบันของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีขีดความสามารถรับน้ำได้สูงสุดเพียง 3,415 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะที่ปริมาณน้ำสูงสุดที่เคยเกิดเมื่อปี 2554 อยู่ในเกณฑ์สูงสุด 4,686 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายผ่านระบบชลประทานของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ที่สามารถรับน้ำได้สูงสุด 150 และ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตามลำดับ ส่งผลให้หากปีใดมีปริมาณน้ำไหลหลากบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจำนวนมาก จนเกินขีดความสามารถที่จะรับได้ จึงทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยตามมา

           จากเหตุผลดังกล่าว กรมชลประทาน จึงได้วางแผนพัฒนาศักยภาพการรับน้ำและระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา  ให้รับน้ำได้สูงสุด 4,295 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับปรับปรุงระบบชลประทานและระบบระบายน้ำฝั่งตะวันออกให้รับน้ำได้มากขึ้นเป็น 930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และฝั่งตะวันตกให้สามารถรับน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 535 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในส่วนของแผนงาน 7 แผนงาน ที่สามารถดำเนินการได้ทันที นั้น ได้เริ่มดำเนินการแล้วบางส่วนในปี 2560 อาทิ งานปรับปรุงคลองระพีพัฒน์และโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง(ฝั่งตะวันออก) ให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิม 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที งานเพิ่มความมั่นคงและเสริมความแข็งแรงให้กับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดปัญหาการพังทลายของคันกั้นน้ำชั่วคราว งานปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำสู่แก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัยออกสู่ทะเล ให้มากขึ้นจากเดิมระบายได้สูงสุด 52 เป็น 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที งานปรับปรุงการระบายน้ำเหนือประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา โดยปรับปรุงคลองชลประทานฝั่งขวา ให้สามารถระบายน้ำได้จาก 12 เป็น 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อตัดยอดน้ำในแม่น้ำท่าจีนที่จะไหลผ่านเขตเศรษฐกิจเมืองสุพรรณบุรี งานเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งซ้ายคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง(คลอง มอ.) โดยการปรับปรุงคลองระบายน้ำสามชุกให้รับน้ำได้มากขึ้น ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลไปลงแม่น้ำท่าจีน เป็นต้น

  สำหรับแผนงาน/โครงการเร่งด่วน ที่สามารถดำเนินการได้ทันที ในปี 2560 มีโครงการย่อย 41 รายการ วงเงินรวม  1,528.1 ล้านบาท โดยได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปแล้ว 18 รายการ วงเงิน 553.1ล้านบาท และกำลังจะเสนอขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 23 รายการ วงเงิน 975 ล้านบาท

  อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้ดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปแล้ว รวม 93 แห่ง อาทิ การปรับปรุงประตูระบายน้ำพระธรรมราชา ให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้นจาก 40 เป็น 180 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และการปรับปรุงสถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในคลองรังสิต จาก 108 เป็น 144 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นต้น

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 24 พฤษภาคม  2560